การปลูกพืชระบบรากแช่ (hydroponic culture) หมายถึง การปลูกโดยให้รากของพืชแช่อยู่ในสารละลายธาตุอาหารตลอดเวลา สำหรับพืชบก จะต้องมีระบบเติมอากาศลงไปในสารละลายเพื่อให้รากพืชได้รับ O2 อย่างสม่ำเสมอ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินเริ่มต้นขึ้นจากการปลูกด้วยระบบนี้ ดังนั้นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินระบบรากแช่จึงเป็นระบบปลูกที่เก่าแก่กว่าระบบอื่น แต่มิได้หมายความว่าเป็นระบบที่ล้าสมัย เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการปลูกอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ. 1929 Prof. William F. Gerricke แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้เป็นผู้พัฒนาระบบปลูกพืชแบบนี้ให้สามารถผลิตพืชเพื่อการค้า และเป็นผู้บัญญัติศัพท์ "hydroponics" ซึ่งใช้เรียกการปลูกพืชระบบนี้อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา การปลูกระบบรากแช่ยังใช้ชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น Water culture, nutrient culture (nutriculture), chemical culture (chemiculture) และ solution culture เป็นต้น (ความหมายเดิมของ hydroponics หมายถึงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินทุกชนิด) การปลูกพืชระบบรากแช่สามารถแยกย่อยได้เป็น 3 เทคนิค ใหญ่ๆ คือ
deep flow technique (DFT) หมายถึงเทคนิคการปลูกโดยให้รากพืชแช่อยู่ในภาชนะบรรจุสารละลายธาตุอาหาร (ลึก 15 - 20 cm กว้าง 50 - 80 cm และยาว 1 - 10 m) ภาชนะดังกล่าวทำหน้าที่ทั้งภาชนะปลูกและภาชนะใส่สารละลายไปด้วย ทำให้เทคนิคนี้ไม่ต้องมีภาชนะใส่สารละลายแยกต่างหาก ปริมาตรของสารละลายมีมาก ทำให้ความเข้มข้นของธาตุอาหารเปลี่ยนแปลงช้า วิธีปลูกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- วางตะแกรงบนปากถังแล้วโรยด้วยวัสดุเพาะต้นกล้า เช่น ขี้เลื่อย พรุ ฟางข้าว และเพอร์ไลท์ เป็นต้น ปรับระดับสารละลายให้ท่วมวัสดุเพาะเล็กน้อย เพาะต้นกล้าบนวัสดุ เมื่อต้นพืชงอกค่อยๆ ลดระดับสารละลายลงให้สารละลายท่วมรากพืชเพียงบางส่วน วิธีนี้อาจไม่จำเป็นต้องเติมอากาศลงไปในสารละลาย
- วางแผ่นไม้ หรือแผ่นโฟมเจาะรูบนปากถัง ปลูกพืชในกระถางขนาดเล็กที่วางอยู่ในรูอีกทีหนึ่ง ปรับระดับสารละลายให้ท่วมรากเพียงบางส่วน หรือเติมอากาศลงไปในสารละลาย
- ปลูกพืชในกระถางเล็กๆ ซึ่งวางอยู่ในรูแผ่นโฟม หรือวัสดุลอยน้ำอย่างอื่น แล้วปล่อยให้ลอยบนสารละลาย เรียกการปลูกแบบนี้ว่า floating hydroponics วิธีนี้จะต้องเติมอากาศลงไปในสารละลาย
รูปที่ 3-1 การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินระบบรากแช่ แบบ Deep flow technique (DFT) ชนิดเติมอากาศด้วยวิธีหมุนเวียนสารละลาย | |
รูปที่ 3-2 การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินระบบรากแช่ แบบ Deep flow technique (DFT) ชนิดเติมอากาศด้วยวิธีพ่นอากาศ | |
จุดเด่นของ DFT
- DFT บรรจุสารละลายธาตุอาหารไว้ในภาชนะปลูกทั้งหมด (ระบบดั้งเดิมของ DFT ภายหลังมีผู้ดัดแปลงต่างไปบ้าง) ทำให้ไม่ต้องมีถังเก็บสารละลาย ไม่ต้องมีท่อ ไม่ต้องมีปั๊มหมุนเวียนสารละลาย (อาจต้องใช้ปั๊มในการเปลี่ยนถ่ายสารละลาย) ทำให้สามารถลดต้นทุนในส่วนนี้ลงไปได้
- พืชไม่ขาดน้ำและธาตุอาหาร เนื่องจากรากแช่อยู่ในสารละลายตลอดเวลา
จุดด้อยของ DFT
- รากพืชมีโอกาสขาด O2 ได้ง่าย เนื่องจากรากแช่อยู่ในสารละลายที่ลึกและไม่ไหลเวียน ผู้ปลูกจะต้องหาทางแก้ปัญหาโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น
- ลดระดับสารละลายลงเมื่อพืชโตขึ้น เพื่อให้รากแช่อยู่ในสารละลายเพียงบางส่วน สามารถทำให้รากไม่ขาด O2 ในขณะที่พืชต้นเล็ก แต่เมื่อพืชที่ปลูกโตขึ้น พืชจะใช้ O2 เพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเติมอากาศลงไปในสารละลายอย่างต่อเนื่อง
- เติมอากาศลงไปในสารละลายตลอดเวลา
- หมุนเวียนสารละลายเช่นเดียวกับ NFT เป็นต้น
- การควบคุมความเข้มข้นของสารละลายทำได้ยากกว่าระบบอื่น ถ้าปลูกพืชปริมาณมาก
- สารละลายธาตุอาหารพืชมีองค์ประกอบเปลี่ยนไปตามระยะเวลาที่ใช้ปลูก ผู้ปลูกจำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายสารละลาย โดยเฉพาะถ้าอายุการเก็บเกี่ยวพืชนั้นนานกว่า 4 สัปดาห์
- รากพืชที่แช่อยู่ในสารละลายไม่สามารถค้ำจุนลำต้นให้ตั้งตรงได้ ถ้าพืชที่ปลูกมีลำต้นสูง ผู้ปลูกจำเป็นต้องสร้างอุปกรณ์พยุงลำต้นถ้าปลูกพืชลำต้นสูง
รูปที่ 3-3 มะเขือเทศ 1 ต้นให้ผลมากกว่าหมื่นผลเมื่อปลูกด้วย deep flow technique กระทรวงเกษตรฯ ประเทศญี่ปุ่น ปลูกแสดงในงาน Japanese Government Exhibition 1985 (Expo' 85) (ที่มา : เอกสารแนะนำงาน) | |
| |
รูปที่ 3-4 ระบบปลูกแบบ Kaneko EK Shiki Hydroponik ของบริษัท Kaneko ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการปลูกเชิงการค้าด้วยเทคนิค deep flow โดยดัดแปลงให้มีการหมุนเวียนสารละลาย และมีการเติมอากาศ แต่ไม่มีถังเก็บสารละลาย ภาพขวามือเป็นตัวอย่างสถานที่ปลูกด้วยระบบนี้ |
| |
รูปที่ 3-5 การปลูกพืชระบบรากแช่ด้วยเทคนิด deep flow ของเกษตรกรรายหนึ่งบนเกาะ Kauia รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา รางปลูกยาว 96 ฟุต กว้าง 30 นิ้ว และลึก 6 นิ้ว ปลูกพืชโดยใช้โฟมวางให้ลอยอยูบนรางปลูก โรงเรือนสร้างด้วยไม้มุงพลาสติกด้านข้างเปิดโล่ง เพื่อกันฝนเพียงอย่างเดียว (ที่มา : http://www.hydrofarm.com/content/articles/hydroart5.html) |
วิธีปลูกพืชแบบ NFT พัฒนาขึ้นโดย Allen Cooper แห่งสถาบันวิจัยการปลูกพืชในเรือนกระจก (GCRI) ประเทศอังกฤษ ประมาณปี ค.ศ. 1965 หลักการของวิธีนี้คือ การปล่อยให้สารละลายธาตุอาหารไหลไปในรางปลูก (gullies) โดยสารละลายมีความลึกไม่มากนัก (ประมาณ 0.5 cm) การทำเช่นนี้ช่วยให้รากมีโอกาสสัมผัสกับอากาศ และ O2 ในอากาศละลายลงไปในสารละลายได้เร็วกว่าการปลูกแบบ DFT การปลูกแบบนี้จึงช่วยลดปัญหาการขาดอากาศ (O2) ของรากพืชได้ดี นอกจากนี้เมื่อปริมาตรของสารละลายที่ไหลผ่านรากพืชมีน้อยลง ทำให้ไม่ต้องสร้างรางปลูกที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรง ค่าก่อสร้างรางปลูกจึงประหยัดกว่าการปลูกแบบ DFT สมบัติของสารละลายเมื่อไหลผ่านรากพืชมีสมบัติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเมื่อมีการหมุนเวียนสารละลายกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดต้นทุนแต่กลับสร้างปัญหาในการควบคุมสมบัติของสารละลายให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ระบบควบคุมสารละลายมีต้นทุนสูงกว่าเทคนิคอื่นที่ไม่ต้องหมุนเวียนสารละลาย และเป็นจุดอ่อนของการปลูกด้วยเทคนิค NFT นอกจานี้ผู้ปลูกยังจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดการธาตุอาหารพืชเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีที่ปลูกพืชอายุยืน สำหรับการปลูกพืชอายุสั้น เช่น ผักต่าง ๆ ผู้ปลูกเพียงแต่ควบคุมค่าการนำไฟฟ้า (EC) และค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ก็เพียงพอ
องค์ประกอบของระบบปลูกแบบ NFT
|
รูปที่ 3-5 ตัวอย่างองค์ประกอบของอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกพืชด้วยเทคนิค nutrient film (NFT) ของบริษัท Mitsubishi Noki ผู้ผลิตใช้ชื่อเรียกเทคนิคนี้ว่า Mitsubishi Hyponica |
1. รางปลูก (gully) และเครื่องค้ำจุนลำต้น รางปลูกสามารถทำจากวัสดุต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น โพลีเอธิลีน (PE) โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ไฟเบอร์แกลส แผ่นเหล็กชุบสังกะสี (galvanized ivon sheet) หรือคอนกรีต เป็นต้น รางปลูกที่ทำจากพลาสติกได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน ควรหลีกเลี่ยงรางเหล็กชุบสังกะสี เนื่องจากเกิดสนิมได้ง่าย ทำให้เหล็กและสังกะสีที่ละลายออกมามีผลกระทบต่อสมบัติของสารละลายธาตุอาหาร รางคอนกรีตมีข้อจำกัดในเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบซึ่งทำได้ยาก ความกว้างของรางปลูกควรอยู่ระหว่าง 10 - 15 cm สำหรับการปลูกพืชแถวเดียวขนาดเล็ก เช่น ผักต่าง ๆ และควรมีความกว้างประมาณ 25 - 30 cm สำหรับการปลูกพืชขนาดใหญ่ เช่น มะเขือเทศ แตงกวา และแตงแคนตาลูป เป็นต้น หรือสำหรับการปลูกผักแถวคู่ ความยาวของรางไม่ควรเกิน 20 - 25 เมตร ความยาวที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 10 - 15 เมตร ทั้งนี้เนื่องจากสัดส่วนและความเข้มข้นของธาตุอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากค่าที่เหมาะสมตามความยาวของรางปลูก รางปลูกที่ยาวเกินไปจะทำให้พืชเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ การติดตั้งรางควรให้มีความลาดเอียงเพียงพอที่สารละลายจะไหลจากปลายด้านหนึ่งไปยังปลายอีกด้านหนึ่งของรางได้อย่างสะดวก เพื่อให้ O2 ละลายลงไปในสารละลายได้ดี และสารละลายไม่ขังอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งภายในราง ความลาดเอียงที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 1:50 ถึง 1:100 ค่าแนะนำโดยทั่วไปอยู่ที่ 1:75 การออกแบบให้มีร่องภายในรางเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาอัตราการไหลไม่สม่ำเสมอภายในรางปลูก รางปลูกควรปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงสว่างเข้าสู่ภายใน ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้สาหร่ายเจริญเติบโต สร้างปัญหาให้กับระบบหมุนเวียนสารละลาย และอาจทำให้สารละลายเน่าเสีย
|
รูปที่ 3-6 ภาพตัดขวางรางปลูกพืชชนิดต่างๆ ด้วยเทคนิค nutrient film ของบริษัท Sunsui ประเทศญี่ปุ่น พื้นรางทำเป็นร่องเพื่อให้สารละลายไหลสะดวกขึ้น รางปลูกมีความกว้าง 30 cm และ 90 cm (รูปไม่สัมพันธ์กับมาตราส่วนจริง) |
2. ถังรองรับสารละลาย (catchment tank) เป็นถังที่ทำหน้าที่รองรับสารละลายที่ไหลผ่านรางปลูกแล้ว ถังไฟเบอร์แกลสหรือถังสแตนเลสสำหรับเก็บน้ำตามอาคารบ้านเรือนสามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ หากเป็นไปได้ปริมาตรของถังควรสามารถรองรับสารละลายทั้งหมดที่อยู่ในระบบได้ เพื่อป้องกันปัญหาสารละลายล้นถังในกรณีกระแสไฟฟ้าขัดข้อง หรือปั๊มชำรุด สำหรับระบบปลูกขนาดใหญ่ ปริมาตรของถังรองรับสารละลายอาจลดเหลือ 20 - 30 % ของปริมาตรสารละลายทั้งระบบ เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้างและลดพื้นที่ติดตั้งถัง อย่างไรก็ตามในกรณีนี้จะต้องมีท่อระบายฉุกเฉินเพื่อป้องกันสารละลายล้นถัง ระดับของถังจะต้องต่ำกว่ารางปลูก โดยทั่วไปนิยมวางต่ำกว่าระดับผิวดิน เพื่อให้ดินช่วยรักษาอุณหภูมิของสารละลายด้วย ก่อนที่สารละลายจากรางปลูกจะไหลลงสู้ถัง ควรผ่านเครื่องกรองเพื่อแยกสิ่งสกปรกออกก่อน
3. ถังบรรจุสารละลายเข้มข้น กรด และด่าง ถังบรรจุสารละลายเข้มข้นจะต้องใช้อย่างน้อย 2 ถัง เพื่อป้องกันการตกตะกอน ส่วนถังกรดและด่างอาจใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งในกรณีที่ทราบว่าสูตรสารละลายที่ใช้มี pH เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อไหลผ่านรางปลูก
4. ปั๊มหมุนเวียนสารละลาย ปั๊มทำหน้าที่สูบสารละลายจากถังรองรับไปยังรากปลูกโดยตรง หรือสูบไปยังถังพัก (header tank) ถังพักอาจมีหรือไม่มีก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม การมีถังพักจะช่วยให้มีสารละลายจ่ายให้แก่รางปลูกต่อไปได้ระยะหนึ่งหลังจากกระแสไฟฟ้าขัดข้อง หรือปั๊มชำรุด และปั๊มไม่ต้องทำงานตลอดเวลา ปั๊มหมุนเวียนควรเลือกชนิดทนทานต่องานหนัก เนื่องจากต้องทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาปลูก ระบบปลูกขนาดใหญ่ควรมีปั๊ม 2 ชุด ซึ่งสามารถสลับทำหน้าที่แทนกันได้เมื่อชุดใดชุดหนึ่งขัดข้อง ขนาดของปั๊มควรจ่ายสารละลายได้เพียงพอที่จะทำให้มีอัตราการไหลของสารละลายในรางปลูกประมาณ 1-2 ลิตร/นาที
5. อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมความเข้มข้นสารละลาย ระบบปลูกขนาดเล็ก ผู้ปลูกอาจตรวจวัดและปรับสารละลายให้เหมาะสมเอง แต่สำหรับระบบขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมอัตโนมัติ พารามิเตอร์ที่ต้องตรวจวัดและควบคุมได้แก่ ค่าการนำไฟฟ้า (EC) ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ระดับสารละลาย และความเข้มข้นของไอออนต่าง ๆ เป็นต้น พืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ผักต่างๆ การควบคุมเฉพาะ EC และ pH ก็เพียงพอแล้ว
จุดเด่นของ NFT
- ท รากพืชได้รับ O2 อย่างสม่ำเสมอ และมีโอกาสขาด O2 น้อยกว่า DFT เนื่องจากรากพืชส่วนหนึ่งอยู่ในอากาศ และสารละลายหมุนเวียนตลอดเวลา
- ท รากพืชได้รับธาตุอาหารสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับระบบ aeropopnics เนื่องจากรากพืชส่วนหนึ่งแช่อยู่ในสารละลายตลอดเวลา
- ท สามารถควบคุมความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารให้สม่ำเสมอได้ง่ายกว่า DFT
- ท รางปลูกมีขนาดเล็ก ขยายปริมาณการผลิตได้ง่ายกว่า DFT และ aeroponics
จุดด้อยของ NFT
- ควบคุมอัตราการไหลให้สม่ำเสมอได้ยาก เนื่องจากการขัดขวางของรากพืชในรางปลูก ผู้ปลูกจะต้องเลือกขนาดของรางปลูกและความหนาแน่งของพืชให้เหมาะสมกับชนิดของพืช รางปลูกต้องมีความลาดเอียงที่พอเหมาะและสัมพันธ์กับอัตราการไหลของสารละลาย รางปลูกที่เอียงมากเกินไปทำให้สารละลายไหลล้นราง ในขณะที่ถ้ารางปลูกเอียงน้อยเกินไปจะทำให้สารละลายไหลช้า เป็นเหตุให้พืชที่ปลูกได้รับธาตุอาหารไม่สม่ำเสมอ
- การติดตั้งรางปลูกจะต้องระวังไม่ให้เกิดการโค้งงอ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ทำรางจะต้องไม่โค้งงอได้ง่าย การติดตั้งระบบปลูกจึงมีความยุ่งยาก อาจจำเป็นต้งใช้ช่างก่อสร้างที่มีความชำนาญ
- สารละลายจำเป็นต้องไหลเวียนตลอดเวลา ทำให้พืชที่ปลูกมีปัญหาหากปั๊มชำรุด หรือกระแสไฟฟ้าขัดข้องเป็นเวลานาน ผู้ปลูกจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า
- มีการจัดการธาตุอาหารที่ยุ่งยากกว่าระบบเปิด ผู้ปลูกจำเป็นต้องปรับความเข้มข้น และความเป็นกรดเป็นด่างของสารละลายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เป็นภาระต่อการจัดการ และมีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายให้กับผู้ปลูกได้ หากผู้ปลูกไม่ดูแลอย่างใกล้ชิด
- โรคพืชสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโรคที่เกิดกับรากพืช ผู้ปลูกอาจลดความเสี่ยง โดยแยกปลูกเป็นส่วนย่อยๆ (segment) แทนการปลูกเป็นระบบใหญ่เพียงระบบเดียว
- รากพืชไม่สามารถค้ำจุนลำต้นได้ จึงต้องมีอุปกรณ์ค้ำจุนลำต้น หากปลูกพืชลำต้นสูง
ตัวอย่างการออกแบบระบบปลูกด้วย NFT
| |
รูปที่ 3-7 การปลูกผักด้วยเทคนิค nutrient film ที่บริษัท แม่กลองพืชผัก จำกัด จ.สมุทรสาคร ภาพซ้ายมือเป็นการย้ายผักจากรางอนุบาลมาปลูกในรางปลูก ส่วนขวามือเป็นรางอนุบาลต้นกล้า |
| |
| |
รูปที่ 3-8 การปลูกสตรอเบอรี (บนซ้าย) และดอกยูริ (บนขวา) ด้วยเทคนิค nutrient film ของบริษัท Sansui ประเทศญี่ปุ่น ภาพล่างซ้ายแสดงการติดตั้งท่อจ่ายสารละลายหัวราง ภาพล่างขวาแสดงระบบที่ติดตั้งเรียบร้อยพร้อมปลูก ของบริษัท Shiaikasei ประเทศญี่ปุ่น |
| |
รูปที่ 3-9 รางปลูกพืช NFT ของเกษตรกรในประเทศนิวซิแลนด์ (ที่มา : http://www.hydroponics.co.nz/nft.html) |
3. Semi-deep flow technique
semi-deep flow technique เป็นเทคนิคที่ดัดแปลงจาก NFT และ DFT เพื่อนำข้อดีของทั้งสองเทคนิคมารวมกัน และแก้ปัญหาของทั้งสองเทคนิคไปพร้อมๆ กันด้วย การปลูกด้วยเทคนิค Semi-deep flow ให้สารละลายไหลผ่านรากพืชลึกว่า NFT (ลึกประมาณ 1-5 cm) เพื่อแก้ปัญหาสารละลายไหลช้าเกินไปจนทำให้พืชที่อยู่ปลายรางปลูกได้รับธาตุอาหารน้อยกว่าพืชที่อยู่ต้นราง การเจริญเติบโตของพืชจึงไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นภาระในการจัดการ เพราะอายุเก็บเกี่ยวของพืชไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ นอกจากนี้ยังไม่จำเป็นต้องสร้างรางปลูกให้ลาดเอียงมากเหมือน NFT อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปลูกด้วยเทคนิคนี้คล้ายกับ NFT มาก บ่อยครั้งที่เทคนิคนี้ยังคงจัดเป็นเทคนิคหนึ่งของ NFT หรือบางครั้งอาจจัดเป็น DFT เนื่องจากความไม่ชัดเจนในการจำแนกการปลูกพืชแบบ soilless culture
ตัวอย่างการออกแบบระบบปลูกด้วย Semi-deep flow technique
| |
| |
รูปที่ 3-10 การนำท่อ PVC ที่ใช้ในงานประปามาดัดแปลงเป็นรางปลูก ซึ่งสามารถออกแบบให้วางได้ทั้งแนวตั้งและแนวราบ การวางในแนวตั้งไม่เหมาะสำหรับพืชที่มีลำต้นสูง แต่สามารถช่วยประหยัดพื้นที่ได้ดี กรณีที่ปลูกผักต่างๆ ท่อไม่จำเป็นต้องวางเอียง แต่ต้องหมุนเวียนสารละลายในอัตราที่เหมาะสม ระดับของสารละลายอยู่ระหว่าง 2 - 5 cm โดยจะต้องควบคุมให้สารละลายท่วมรากพืชบางส่วนตลอดเวลา และปรับระดับตามการเจริญเติบโตของพืช (สูงระยะต้นอ่อน และลดลงเมื่อพืชโตขึ้น) |
|
รูปที่ 3-11 ระบบปลูก Shinen Shiki เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยสถานีวิจัยพืชสวนประจำจังหวัด Shinagawa ประเทศญี่ปุ่น ระบบนี้ใช้คอนกรีตบล๊อกหนา 10 cm สูง 20 cm มาสร้างรางปลูก ขนาดรางปลูกกว้าง 80 cm สูง 10 cm ภายในปูด้วยแผ่นโพลีเอธิลีนความหนา 0.4 mm แล้วปูทับด้วยแผ่นโพลีเอธิลีนความหนา 0.1 mm อีกชั้นหนึ่ง แผ่นโพลีเอธิลีนชั้นบน (แผ่นบาง) จะต้องเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งที่ปลูก เพื่อป้องกันการสะสมและการระบาดของโรค ตรงกลางรางปลูกวางท่อจ่ายสารละลายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 mm เจาะรูขนาด 2 mm จำนวน 2 รู ระยะ 45 cm ใช้ตะกล้าพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านบน 12 cm ด้านก้น 7 cm และสูง 6 cm สำหรับรองรับต้นพืชที่ปลูก และเป็นเสาท่อ ระบบนี้มีการหมุนเวียนสารละลาย ดังนั้นจะต้องใช้ปั๊มขนาดประมาณ 2.2 kW ต่อพื้นที่ปลูก 1000 ตารางเมตร และใช้ถังเก็บสารละลายขนาดประมาณ 25 - 30 ลูกบาศก์เมตร ต่อพื้นที่ปลูก 1000 ตารางเมตร |
ขอบคุณข้อมูลจาก http://agri.wu.ac.th/msomsak/Soilless/
Blog บันทึกนี้เป็นที่รวบรวมความรู้ด้านการเกษตรที่ค้นหาได้ตามความสนใจของผู้บันทึก ไม่ขอยืนยันว่าข้อมูลที่บันทึกและรวบรวมไว้มีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร แต่เป็นผู้ที่สนใจอยากเข้ามาเรียนรู้และอยากมีโอกาสได้ลงมือทำเท่านั้น หากจะให้นิยามของ BLOG นี้ว่าคืออะไร เราก็อยากจะนิยามของความรู้ด้านเกษตรใน BLOG คือ "เกษตรทฤษฎี copy_paste" อย่าได้เชื่ออะไรจนกว่าท่านจะได้พิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง ดังนั้น ผู้บันทึกเองยินดีรับคำชี้แนะทุกสถานหากท่านจะเมตตาชี้แนะ แต่หากข้อมูลที่บันทึกทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ หรือจะเป็นแรงบันดาลใจของท่านใดให้ลงมือทำแบบจริงจัง ก็อย่าลืมแวะมาเล่าให้เราได้ฟังบ้างนะครับ ขอบคุณครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น