'ฟาร์มแม่นยำ' ยังไม่รู้มันคืออะไร แต่น่าสนใจ



วันนี้ 25 มีนาคม 2560 ได้อ่านข่าวชิ้หนึ่งจากเว็บไซต์ Manager Online เกี่ยวกับเรื่องการนำไอทีมาจัดการด้านการเกษตรของหลายหน่วยงานที่ร่วมมือกัน

พอดีอยู่ในช่วงให้ความสำคัญ IT กับเรื่อการเกษตรเป็นพิเศษ เลยต้องบันทึกไว้หน่อย  เผื่อว่าต่อไปจะหาไม่เจอะแล้ว  ใจความข่าวมีว่า



เกษตรยุคใหม่ต้องมี 'ฟาร์มแม่นยำ' นำ IoT ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน
เจ้าของฟาร์ม มะเขือเทศ เมล่อน และผักปลอดสารพิษ ที่อยู่ใกล้ กทม.ไม่เกินรัศมี 300 ก.ม. เตรียมตัวเฮ ดีแทค จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร และเนคเทค ชวน 30 ฟาร์ม ที่เคยผ่านการอบรมโครงการ Young Smart Farmer ร่วมนำร่อง 'ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ' ชูเทคโนโลยี IoT เพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงผลผลิตตกต่ำ คาดภายในเม.ย.ปีหน้าจะได้สูตรความสำเร็จของผลิตผลพร้อมแบ่งปันให้เกษตรกรยุค 4.0

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวถึงโครงการ ‘ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ’ ว่าถือเป็นรูปแบบของการทดลองและวิจัยโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการเกษตร โดยหวังผลในการเพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไทย

“ดีแทคและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้ร่วมกันพัฒนาโซลูชัน IoT เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ แสง และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ”

โดยเนคเทค- สวทช. รับผิดชอบในการวิจัยและผลิตอุปกรณ์ในส่วนของระบบเซ็นเซอร์ ขณะที่ดีแทครับผิดชอบด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบ dtac Cloud Intelligence

เกษตรยุคใหม่ต้องมี 'ฟาร์มแม่นยำ' นำ IoT ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือทางการเกษตร หลังจากความร่วมมือระหว่างดีแทคและกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูปและการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างเครือข่ายเกษตรกรเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม โครงการดีแทค ฟาร์มแม่นยำ ได้นำร่องทดลองที่ฟาร์มแตะขอบฟ้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรีแล้ว โดยหลังจากนี้ จะเปิดให้เกษตรกรที่เคยผ่านการอบรมโครงการ Young Smart Farmer ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและดีแทคมาแล้วในการสมัครร่วมทดลอง เพื่อหาสูตรที่ดีที่สุดในการปลูกพืชแต่ละชนิด และในพื้นที่สภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งนี้ จะคัดเลือกเกษตรกรจำนวน 30 ฟาร์ม

โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้แอปพลิเคชันในระดับดี มีความต้องการที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการทำเกษตรของตนเอง และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน นอกจากนี้ จะต้องเป็นเจ้าของฟาร์ม และทำการเกษตรในโรงเรือน ตลอดจนทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมี ทั้งนี้ ฟาร์มจะต้องตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพ เพื่อความสะดวกในการวิจัย ติดตามผลและให้คำแนะนำ

เกษตรยุคใหม่ต้องมี 'ฟาร์มแม่นยำ' นำ IoT ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน
สำหรับการคัดเลือก ฟาร์มและประเภทของพืชนั้น ดีแทค ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรในด้านวิชาการ ซึ่งประเภทของพืชในระยะทดลองนี้ จะเป็นพืชที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด 3 ชนิด ได้แก่ มะเขือเทศ เมล่อน และผักปลอดสารพิษ โดยตั้งใจจะเก็บข้อมูลให้ได้ผลการเก็บเกี่ยวสัก 3 รอบการเก็บเกี่ยวก่อน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จากนั้นคาดว่าภายในเดือนเม.ย.ปีหน้าจะได้สูตรค่าการทำการเกษตรของพืชทั้ง 3 ชนิด เพื่อนำไปแบ่งปันให้กับเกษตรกรรายอื่นๆได้ โดยในระยะยาวโครงการนี้สามารถทำกับพืชชนิดอื่นๆได้อีกด้วย

"ดีแทคฟาร์มแม่นยำ นี้ เป็นหนึ่งในโครงการร่วมสร้าง Smart Farmer ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ ตั้งแต่การผลิต การขาย (โครงการเกษตรเชิงพาณิชย์) และการเชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยผ่าน Freshket สตาร์ทอัปในโครงการ dtac Accelerate เชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตกับร้านอาหารชั้นนำ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง"

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer เพื่อรองรับแรงงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพเกษตรกรไทย และเสริมสร้างให้เกิดเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีแนวคิดในการเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานสินค้า และมุ่งสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก

ขณะที่นายศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการ เนคเทค กล่าวว่า เนคเทค ได้พัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านเซ็นเซอร์ โดยสร้างระบบควบคุมการเพาะปลูกแบบเครือข่ายเกษตรกร จำเพาะเจาะจงตามชนิดของพืช ในระยะแรกจะเน้นการติดตามและเก็บบันทึกปัจจัยการเพาะปลูก เช่น ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิในอากาศ และปริมาณแสงในโรงเรือน

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย เนคเทคคาดว่า ระบบจะช่วยเกษตรกรในการเก็บข้อมูล ประมวลผล และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่รู้จักใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างตลาดและโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัป

***2 ตัวอย่าง ฟาร์ม มะเขือเทศเชอร์รี่-เมล่อน

เกษตรยุคใหม่ต้องมี 'ฟาร์มแม่นยำ' นำ IoT ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน
โครงการดังกล่าวได้เริ่มนำร่องไปแล้วกับ 2 เจ้าของฟาร์มมะเขือเทศเชอร์รี่ และเมล่อน ที่จ.สุพรรณ โดยนายปิยะ กิจประสงค์ เจ้าของฟาร์มมะเขือเทศเชอร์รี่ แตะขอบฟ้า เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ในการทำฟาร์มของตนไม่ใหญ่มาก ผลผลิตจึงไม่ทันกับความต้องการของตลาดเพราะบางช่วงที่ร้อนมากผลผลิตก็ไม่มี

เมื่อมีโอกาสได้ร่วมโครงการนี้ตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าในอนาคตสามารถขยายฟาร์มได้โดยไม่ต้องดูแลเอง แต่ควบคุมผ่านแอปพลิเคชั่นได้ นอกจากนี้ยังได้สร้างเครือข่ายในการผลิตให้มีคุณภาพเหมือนกันทุกที่ได้อีกด้วย เพราะระบบเซ็นเซอร์จะช่วยให้รู้ค่าความชื้นของดิน รู้ว่าต้องให้น้ำมากขนาดไหน ถึงจะได้ผลผลิตที่ดี แม้ว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีในครั้งแรกจะต้องมีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อคิดถึงความคุ้มค่าในการใช้งานระยะยาว และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเพียง 5-10% เมื่อเทียบกับการไม่มีผลผลิตเลยมันคุ้มค่ามาก

เช่นเดียวกับนายณัฐ มั่นคง เจ้าของฟาร์มโคโค่ เมล่อน เล่าไปในทิศทางเดียวกันว่าการมีแอปพลิเคชันจะช่วยให้สามารถขยายฟาร์มได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าต้องอยู่ใกล้พื้นที่อีกฟาร์มหนึ่ง เพราะระบบเซ็นเซอร์จะรายงานผลแบบเรียลไทม์มายังแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และต่อไปตนเองก็ไม่ต้องนำมือไปซุกดินเพื่อคาดคะเนความชื้นที่อาจจะไม่แม่นยำเสมอไปอีกด้วย

อ่านข่าวแบบเต็มๆ คลิกที่นี่ครับ

Share on Google Plus

About Sorawee Blog

Blog บันทึกนี้เป็นที่รวบรวมความรู้ด้านการเกษตรที่ค้นหาได้ตามความสนใจของผู้บันทึก ไม่ขอยืนยันว่าข้อมูลที่บันทึกและรวบรวมไว้มีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร แต่เป็นผู้ที่สนใจอยากเข้ามาเรียนรู้และอยากมีโอกาสได้ลงมือทำเท่านั้น หากจะให้นิยามของ BLOG นี้ว่าคืออะไร เราก็อยากจะนิยามของความรู้ด้านเกษตรใน BLOG คือ "เกษตรทฤษฎี copy_paste" อย่าได้เชื่ออะไรจนกว่าท่านจะได้พิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง ดังนั้น ผู้บันทึกเองยินดีรับคำชี้แนะทุกสถานหากท่านจะเมตตาชี้แนะ แต่หากข้อมูลที่บันทึกทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ หรือจะเป็นแรงบันดาลใจของท่านใดให้ลงมือทำแบบจริงจัง ก็อย่าลืมแวะมาเล่าให้เราได้ฟังบ้างนะครับ ขอบคุณครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น